top of page

ประสบการณ์ การขาดออกซิเจนขณะดำน้ำ

เล่าประสบการณ์ - Hypoxia อาการขาดออกซิเจนขณะดำน้ำ เหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2546 ท ผมกับเพื่อนๆ อีกกลุ่มหนึ่ง ได้นัดกันไปดำน้ำที่ หินเพิง จ. ระยอง เพื่อทำการตัด และเก็บอวนที่เข้ามาติดอยู่ที่นั่นออก ในวันนั้น เดิมทีกำหนดกันไว้ว่าจะทำงานเก็บอวน 2 ไดฟ์ แล้วไดฟ์ที่ 3 จะไปดำเที่ยวกันที่อื่น ไดฟ์แรก ลงดำที่กองหินเพิงด้านตะวันออก พบเศษอวนขนาดเล็กบ้างประปราย ส่วนใหญ่เป็นอวนที่เริ่มเก่าแล้ว น้ำเริ่มซัดมาม้วนรวมกันเป็นมัดใหญ่ ทุกคนที่ลงดำน้ำ ใช้มีด กรรไกร และคัดเตอร์ ช่วยกันตัดให้เล็กลง ม้วนเป็นก้อน ผูกไว้ด้วยเชือก และใช้ถุงพลาสติก ทำเป็น Lift bag เพื่อปล่อยให้ลอยขึ้นสู่ผิวน้ำ และจะใช้เรือเพิ่อตามเก็บภายหลัง ในไดฟ์นี้ ไม่มีปัญหาเท่าไร เศษอวนไม่มาก เวลาดำน้ำทั้งหมดประมาณ30 - 45 นาที ความลึกจำไม่ได้ครับ ต้องไปเอาไดฟ์คอมมาดูอีกทีแล้วจะบอก หลังจากพัก ก็ขึ้นมาทานข้าวกัน ประมาณบ่ายโมงนิดๆ ก็ลงดำไดฟ์ที่ 2 กัน ที่หินเพิงกองกลาง (หินเพิง มีเรียงกันอยู่ 3 ยอด แต่ละยอดห่างกันประมาณ 15 - 20 เมตรได้) กองกลางนี้ ยอดกองอยู่ลึกที่สุด เรือต้องใช้ sounder กวาดหา ที่นี่ พบอวนมากกว่าที่คาดไว้ liftbag ที่ทำจากถุงพลาสติกที่นำลงน้ำไปด้วยหมดก่อนที่จะเอาอวนขึ้นได้หมด รวมทั้งพบอวนผืนใหญ่ ซึ่งเมื่อแกะออกจากกองหิน และแนวปะการังแล้ว รวมกันเป็นก้อนสูงเกือบเท่าเอวผู้ใหญ่ ใช้ถุงพลาสติกผูกเข้าไปแล้ว 6 ถุง ก็ยกไม่ขึ้น เราจึงทดลองใช้ Dive Sausage ผูกเข้าไปเพื่อให้ช่วยในการยกอีก ครั้งแรก เกือบสำเร็จ เชือกที่ผูกไว้ขาดไปก่อน ผมเลยเอา sausage ของผม ผูกติดเข้าไปใหม่ เติมอากาศ พอเริ่มลอย ก็ปล่อยให้ลอยขึ้นไป ปรากฎว่า พี่อีกคนหนึ่งที่ลอยตัวอยู่สูงกว่า หวังดี เติมอากาศเข้าไปอีก.. เชือกเลยขาด อวนตกกลับลงมาใหม่ ณ. เวลานั้น อากาศผมเหลือน้อยมาก เช่นเดียวกับทุกๆ คน และ No decompression limit ที่ไดฟ์คอมของคนที่มี ก็เหลืออีกคนละ 5 นาทีบ้าง 3 นาทีบ้าง จึงตัดสินใจจำที่ไว้ แล้วกลับขึ้นเรือก่อน เมื่อขึ้นมาบนเรือ เราตกลงกันว่าจะลงไดฟ์สุดท้ายที่นี่อีกครั้ง เพื่อเอาอวนกองใหญ่สุดนี้ขึ้น แล้วก็จะดำเที่ยวที่นี่เลย เจ้าของเรือ ซึ่งเป็นนักดำน้ำเหมือนกัน เอา liftbag ที่ดัดแปลงมาจาก Drybag มาให้ใช้ ซึ่งขนาดของ liftbag ใบนี้ สามารถยกกองอวนกองนี้ขึ้นได้แน่นอน หลังจากพักน้ำประมาณ 1 ชั่วโมงแล้ว เราลงไดฟ์ที่ 3 กันอีกครั้ง ผมมุ่งตรงไปที่กองอวนที่ยังยกไม่ขึ้น ผูก liftbag ใหญ่นี้เข้าไป แล้วใช้อากาศจาก Octopus ของน้องคนที่ใช้อากาศน้อยกว่าผมเติม จนกองอวนเริ่มลอยขึ้น จึงเติมเข้าไปอีกเล็กน้อย แล้วปล่อยให้มันลอยขึ้นไปเอง เพราะกองอวนขึ้นเร็วกว่าความเร็วที่ปลอดภัยสำหรับนักดำน้ำมาก จากนั้น เราก็เริ่มจะดำเที่ยว แต่ด้วยกระแสน้ำที่เริ่มจะแรง และไม่ค่อยมีอะไรดู จึงกลับขึ้นเรือเมื่ออากาศเหลืออยู่ประมาณ 80-90 bar หลังจากทำ Safety Stop (ทำทุกไดฟ์ที่ผ่านมา) ปรากฎว่า เมื่อกลุ่มผมขึ้นมาที่เรือ คนที่อยู่บนเรือบอกว่า liftbag พุ่งขึ้นมาแล้วจมลงไปใหม่ ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ยังไม่ขึ้นมา ผมจึงตัดสินใจลงไปอีกครั้ง กับ buddy เพื่อลงไปหา liftbag อีกครั้ง (เป็น dive ที่ 4 ของวัน พักน้ำหลัง dive 3 แค่ประมาณ 10 นาที) ครั้งนี้ เอาเชือก search line ลงไปด้วย เพื่อจะค้นหา ถ้าหาไม่เจอ ก็จะขึ้น เราลงไปตามสายสมอ และสวนกับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งกำลังทำ safety stop อยู่ ซึ่งเขาก็บอกว่า เห็นกองอวนตกผ่านหน้าลงไป เมื่อเราลงไปจนเกือบสุดสายสมอ ก็เห็นว่ากองอวนตกอยู่ข้างๆ สมอที่พื้นทราย จึงย้อนเข้าไปเติมอากาศ ใส่ถุงพลาสติกก่อน และเนื่องจากไดฟ์นี้ อากาศในถังเราเหลือกันน้อยทุกคน ผมจึงใช้วิธีมุดหัวเข้าไปใน liftbag ใบใหญ่ แล้วหายใจออกให้ฟองอากาศเข้าไปอยู่ในนั้น แทนการใช้ octopus ซึ่งจากการทำอย่างนี้ ทำให้ผมเริ่มลอยขึ้นไปพร้อมกับ liftbag โดยเมื่อผมรู้สึกว่ามันเริ่มลอยขึ้นเร็ว จึงปล่อยliftbag ออก ทันทีที่ปล่อยอมือออกจาก liftbag นั้นเอง ผมรู้สึกมึนหัว เวียนหัว และหลงทิศในทันที หันไปเห็น buddy เข้า จึงคว้าแขนเขาไว้ก่อน และรู้สึกว่ากระแสน้ำเริ่มแรงขึ้น เมื่อจับแขน buddy ได้ จึงเริ่มตั้งหลักได้ มองไปรอบตัว เห็นเชือกสายสมอ ผมรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติเกิดกับตัวเองแน่ๆ ครั้งแรกคิดว่าเป็น Vertigo หรืออาการหลงทิศ จึงเพ่งมองไปที่สายสมอ และยืดไว้เป็นหลักในสายตา แล้วทุ่มกำลังที่เหลืออยู่ เตะขาพุ่งไปหาสายสมอทันที ระหว่างที่พุ่งเข้าไปนั้น ผมรู้สึกว่า มุมมองของตัวเองแคบเข้า แคบเข้า รอบข้างที่มองเห็นมืดลงเรื่อยๆ เหลือแต่วงตรงกลางที่ยังมองเห็นสายสมออยู่ ตอนที่ผมเข้าจับสายสมอได้นั้น ผมมองเห็นสายสมอเพียงแค่ประมาณ 2 ฟุต เท่านั้น ทั้งๆ ที่เวลานั้นฟ้ายังไม่มืด น้ำก็ไม่ขุ่น เมื่อจับสายสมอได้ ผมหลับตา พยายามตั้งสติ สูดหายใจเข้า - ออก ยาวๆ อยู่พักหนึ่ง (2-3 นาที) ลืมตาขึ้นอีกครั้ง รอบข้างสว่างเหมือนเดิม จับทิศทางได้ แต่ยังรู้สึกเวียนหัวอยู่ จึงค่อยๆ ขึ้นสู่ผิวน้ำช้าๆ ชนิดมือต่อมือ และขึ้นมาพักน้ำที่ระดับ 5 เมตร จนกระทั่งอากาศเหลือเพียง 30 bar จึงขึ้นผิวน้ำ (อวนกองนั้น ตกกลับลงไปอีกรอบ เจ้าของเรือลงไปค้นเอง ก็ไม่พบ เพราะกระแสน้ำพัดออกไปที่ลึกมากกว่า 25 เมตร) เมื่อวานนี้ ได้มีโอกาสคุยกับครูศรันย์ กิติวัฒนะกุล PADI Course Director แห่งร้าน Ban's Diving ครูได้อธิบายให้ฟังว่า อาการอย่างที่ผมเป็นนั้น คืออาการของการเกิด Hypoxia หรืออาการที่ออกซิเจนเกือบจะไม่พอไปเลี้ยงสมอง ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่ผมลอยขึ้นเร็วพร้อมๆ กับ liftbag ในตอนที่เป่าให้ liftbag พอง การขึ้นเร็วนั้น ทำให้ คาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในเลือด ละลายออกมาผ่านปอดไม่ทัน จึงยังสะสมอยู่ในกระแสเลือด ทำให้เลือดที่ไปที่สมองนั้น มีอัตราส่วนของออกซิเจนต่ำลง จึงเกิดอาการในลักษณะเดียวกับการเกิด Shallow Water Blackout ขึ้น บทเรียนครั้งนี้ สอนให้รู้ว่า... 1. อย่าประมาท อย่าทำอะไรเกินความรู้ ความสามารถตัวเอง 2. ระวังอัตราการขึ้นจากที่ลึกให้ดีครับ.. ถึงแม้ว่าจะมีไดฟ์คอมคอยเดือน แต่ระวังเองเป็นดีที่สุด 3. การใช้ liftbag นั้นควรระวังการเติมอากาศให้แค่พอดี และถ้าเป็นไปได้ ควรผูกเชือกนำไว้ด้วย และอย่าลอยขึ้นตามไปกับ liftbag (หาอ่านเพิ่มเติมได้จากกระทู้เกี่ยวกับการใช้ liftbag ที่คุณ marlin เคยมาโพสไว้) 4. การทำงานใต้น้ำ ต้องวางแผนให้ดีครับ.. เพราะใน ไดฟ์ที่ 2 มีคนที่ติด Decom (ดำน้ำนานเกิน No Decompression Limit) แล้วอากาศไม่พอทำ Emergency Decompression Stop ไป 1 ราย ไดฟ์ที่ 3 จึงลงไม่ได้


Featured Posts
Check back soon
Once posts are published, you’ll see them here.
Recent Posts
Archive
Search By Tags
No tags yet.
Follow Us
  • Facebook Basic Square
  • Twitter Basic Square
  • Google+ Basic Square
bottom of page